ทำความรู้จักอัตราส่วน ทางการเงินยอดฮิต
16 Jul 2024 | 514
- Deepscope Site Admin
เชื่อว่านักลงทุนมือเก่า คงเคยได้ยินนักวิเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนพูดถึงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญสำหรับการลงทุนในหุ้นกันอยู่บ่อยๆ แต่อาจมีนักลงทุนมือใหม่ ที่ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าอัตราส่วนทางการเงินเหล่านั้นหมายถึงอะไร และต้องดูอย่างไรจึงจะสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อเลือกหุ้นดี น่าลงทุนได้
บทความนี้พามาทำความรู้จักกับ 7 อัตราส่วนทางการเงินยอดฮิต ที่มักถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนกัน
อัตราส่วนทางการเงิน คือ
การนำตัวเลขจากงบการเงินมาหาอัตราส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวเลขที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของกิจการ ซึ่งอาจจะนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตของกิจการ ข้อมูลของคู่แข่ง หรือข้อมูลของทั้งอุตสาหกรรม
ข้อดี
ทำให้ประเมินฐานะทางการเงิน และความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในเชิงเปรียบเทียบได้ง่าย โดยอาจนำมาเปรียบเทียบกับกิจการในอดีต หรือเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่ง หรือเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมได้
ข้อควรระวัง
อัตราส่วนทางการเงินเป็นการคำนวณจากตัวเลขในงบการเงินโดยตรง ซึ่งรวมรายการที่ผิดปกติไว้ด้วย เช่น กำไรพิเศษจะถูกรวมไว้ในงบการเงินแล้ว เมื่อนำมาคำนวณอัตราส่วนทำให้สูงกว่าปกติ หากไม่เจาะลึกลงในรายละเอียดทำให้เข้าใจผิดได้
ไม่ควรเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินข้ามอุตสาหกรรมที่มีลักษณะธุรกิจแตกต่างกัน
ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ แต่ถึงแม้จะเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็ควรดูรายละเอียดประกอบด้วย เพราะแต่ละบริษัทก็มีธรรมชาติในการประกอบธุรกิจไม่เหมือนกันซะทีเดียว รวมถึงนโยบายทางบัญชีที่แตกต่างกันได้
เช่น ธุรกิจขายบ้านจัดสรร กับธุรกิจค้าปลีก ย่อมมีอัตราทำกำไรที่ต่างกัน โดยเบื้องต้นไม่สามารถใช้อัตราส่วนทางการเงินเปรียบเทียบกันโดยตรงได้
ควรเข้าใจลักษณะธุรกิจ (Business Model) ประกอบด้วย
7 อัตราส่วนทางการเงินยอดฮิต นักลงทุนใช้เป็นประจำ
1. Price to Earning : P/E
เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น ที่บริษัททำได้ในรอบปีล่าสุด เป็นค่าที่จะได้ยินบ่อยที่สุด เนื่องจากสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ทั้งหุ้นรายตัว และสภาพตลาดโดยรวม
2. Price to Book Value : P/BV
เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นของกิจการ หากค่า P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า หมายความว่านักลงทุนสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท ดังนั้น หากจะเลือกลงทุนหุ้น ควรเลือกหุ้นที่มีค่า P/BV ต่ำกว่า ค่า P/BV เฉลี่ยของอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้หุ้นที่มีราคาตลาดไม่สูงเกินมูลค่าทางบัญชีมากเกินไป
P/BV เป็นอีกหนึ่งอัตราส่วนที่นักลงทุนนิยมใช้กัน เนื่องจากหาได้ง่ายจากงบการเงิน แต่อาจผิดเพี้ยนไป หากใช้กฎเกณฑ์หรือมาตรฐานทางบัญชีที่แตกต่างกัน หรือกิจการมีขนาดของสินทรัพย์ที่แตกต่างกันมาก จึงไม่เหมาะที่จะใช้กับธุรกิจบริการที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรน้อย
3. Dividend Yield
เป็นการวัดอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับราคาหุ้น หากหุ้นตัวใดมีค่านี้สูง แสดงว่ามีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนพอสมควร แต่ถ้าหุ้นใดมีค่านี้ต่ำ ก็ต้องหาข้อมูลต่อไปว่าเกิดจากการทำกำไรได้น้อยหรือเกิดจากนโยบายของบริษัทที่จะนำเงินไปลงทุนมากกว่าจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งถ้าเป็นประการหลัง และเป็นโครงการลงทุนที่ดี วิเคราะห์แล้วน่าจะมีผลตอบแทนที่สูง ก็ไม่ได้แสดงว่าหุ้นตัวนั้นไม่ดีแต่อย่างใด
4. Turnover Ratio
อัตราการหมุนเวียนการซื้อขาย ใช้วัดปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ว่ามีมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับปริมาณหุ้นจดทะเบียน ถ้ามีค่ามาก แสดงว่ามีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง พูดง่ายๆ คือ สามารถเปลี่ยนหุ้นเป็นเงินสดได้ดี
5. Net Profit Margin
อัตราส่วนกำไรสุทธิ เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทหลังจากนำรายได้และค่าใช้จ่ายทุกประเภทมาพิจารณาแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทในการควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดกำไรสุทธิ ดังนั้น ค่า Net Profit Margin ยิ่งสูงก็ยิ่งเป็นผลดี
6. ROA หรือ Return on Asset
อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ทั้งหมดที่กิจการนั้นใช้ในการดำเนินงาน ยิ่งมีค่ามาก ยิ่งแสดงว่าบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างกำไรจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้สูง
7. ROE หรือ Return on Equity
อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรจากส่วนของเจ้าของ หาก ROE มีค่ามาก ก็แสดงว่าบริษัทนั้นสร้างกำไรสุทธิได้ดี ผู้ถือหุ้นก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนในระดับที่สูงตามไปด้วย
Financial Ratio สูง-ต่ำ เท่าไรถึงจะดี
ในการหาตัวเลือกลงทุนที่ดีที่สุดจากตัวเลือกที่มีอยู่หลากหลายนั้น การพิจารณาเพียงอัตราส่วนทางการเงินของกิจการที่วิเคราะห์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ นักลงทุนต้องทำการเปรียบเทียบบริษัทที่ทำการวิเคราะห์กับต้วเลือกการลงทุนอื่นๆ ที่มีอยู่ พูดง่ายๆ คือ…
เทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมองทั้ง 7 อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อดูว่าบริษัทมีข้อดีข้อด้อยในส่วนใด และโดยภาพรวมบริษัทใดน่าจะเป็นตัวเลือกการลงทุนที่ดีที่สุด
เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม วิธีนี้นักลงทุนต้องรวมตัวเลขงบการเงินของกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แล้วนำมาจัดทำอัตราส่วนทางการเงินของกลุ่มอุตสาหกรรม (ไม่แนะนำให้หาอัตราส่วนทางการเงินรายบริษัทในอุตสาหกรรมแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย เนื่องจะได้ค่าเฉลี่ยที่ไม่ได่มีการถ่วงน้ำหนักในการคำนวน) จากนั้นจึงนำอ้ตราส่วนทางการเงินของกิจการที่วิเคราะห์ มาเปรียบเทียบกับตัวเลขของอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้รู้ว่ากิจการที่วิเคราะห์มีสถานะที่ดีหรือแย่กว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
ทั้ง 7 อัตราส่วนทางการเงินนี้เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและมักได้ยินบ่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจความหมายและสามารถติดตามข่าวสารต่างๆ ได้โดยมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องมีการศึกษาหาข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
อย่าลืมว่า… การลงทุนมีความเสี่ยง แต่สามารถบริหารความเสี่ยงให้น้อยลงได้ด้วยการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน
สำหรับใครที่ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาหาความรู้ทางด้านการลงทุน ตลอดจนไม่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เพื่อใช้คัดกรองหุ้นที่จะลงทุนได้เอง
สามารถใช้ฟังชั่น Filter คัดเลือกหุ้นโดยใช้อัตราส่วนทางการเงินในเว็บไซต์ของเรา
ที่นี่ 👉 https://bit.ly/3SHKdb4
วิธีใช้งาน 👉 https://bit.ly/48N1Gn0